Logo Piases
ช้อปลดหย่อนภาษี 101

ช้อปลดหย่อนภาษี 101

January 16, 2025
3 min read
Table of Contents

มาตรการช้อปลดหย่อนภาษี ประหยัดภาษีได้เท่าไหร่ในแต่ละฐานภาษี และกับดักค่าลดหย่อนภาษีที่มาพร้อมกับมาตรการช้อปลดหย่อนภาษีเหล่านี้ทุกครั้ง

ช้อปลดหย่อนภาษี คืออะไร?

ช้อปลดหย่อนภาษี คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผู้เสียภาษีจะสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการตามเงื่อนไข ที่เกิดขึ้นภายในช่วงเวลาของมาตรการช้อปลดหย่อนภาษี มาใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง (แต่ไม่เกินจำนวนที่กำหนด) ในการยื่นภาษีในต้นปีถัดไป

โดยในแต่ละปีมาตรการช้อปลดหย่อนภาษีจะมีชื่อที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น ช้อปดีมีคืน ช้อปช่วยชาติ ช้อปลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt (ปัจจุบัน) หรือชื่อโครงการอะไรก็ตามแต่ ซึ่งจะประกาศออกมาพร้อมกับการประกาศว่าในปีนั้นหรือปีต่อไปจะมีมาตรการช้อปลดหย่อนภาษีหรือไม่

ทั้งนี้ มาตรการช้อปลดหย่อนภาษีเหล่านี้มักจะประกาศออกมา (ว่าจะมี) อย่างฉุกละหุกในช่วงครึ่งปีหลังค่อนไปทางช่วงท้ายปี จึงจำเป็นที่จะต้องติดตามอยู่เสมอในช่วงปลายปีและช่วงต้นปี

ช้อปลดหย่อนภาษีได้จริงเท่าไหร่

ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับบุคคลธรรมดาอย่างเรา ๆ จะแบ่งเป็น 4 ขั้นตอนคร่าว ๆ ได้แก่

  1. รวมเงินได้ทั้งปี เรียกว่า เงินได้พึงประเมิน หรือ รายได้พึงประเมิน
  2. หักค่าใช้จ่าย ตามประเภทเงินได้แต่ละประเภท
  3. หักค่าลดหย่อนภาษี ตามที่คุณมีสิทธิ
  4. นำเงินได้ทั้งปีที่หักข้อ 2 และ 3 ออกไปแล้ว (เรียกว่า เงินได้สุทธิ) มาแบ่งตามขั้นภาษี (เรียกว่า ภาษีขั้นบันได หรือ ภาษีอัตราก้าวหน้า) และนำคูณหาภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องจ่ายในแต่ละขั้น

สำหรับใครที่ยังคำนวณภาษีไม่เป็นลองค้นหาด้วยคำว่า “วิธีคำนวณภาษี” หรือ “วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” เพื่อทำความเข้าใจการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบละเอียด

สมมติว่า ถ้ารายได้ทั้งปีของเราคือเงินเดือนทั้งหมด 500,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายออกไปจะเหลือ 400,000 บาท จากนั้นหักค่าลดหย่อนพื้นฐานคือ ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 และหักค่าประกันสังคม 9,000 บาท จะเหลือ 331,000 บาท

จากตัวอย่างจะเห็นว่า ค่าลดหย่อนภาษี เป็นเพียงตัวเลขที่ช่วยลดจำนวนเงินได้พึงประเมินลงก่อนที่จะคำนวณว่าต้องจ่ายภาษีกี่บาท ไม่ใช่การลดจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายลง ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้หากจะมีใครสักคนเข้าใจผิดเนื่องจากคำว่า “ค่าลดหย่อนภาษี” เป็นสิ่งที่มีความหมายกำกวม

ค่าลดหย่อนจากการช้อปลดหย่อนภาษีจึงไม่ได้ทำให้คุณจ่ายภาษีลดลง 50,000 บาท เมื่อคุณช้อปไปเต็มจำนวน 50,000 บาท

ถ้าใช้สิทธิช้อปลดหย่อนภาษี 50,000 บาท จะช่วยลดภาระภาษีให้คุณได้ดังนี้

ฐานภาษีภาษีลดลงสูงสุด
5%2500
10%5000
15%7500
20%10000
25%12500
30%15000
35%17500

หมายเหตุ: กรณีที่การที่รายได้สุทธิไม่ถึงขั้นที่ต้องเสียภาษี หรือเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่แล้ว การช้อปลดหย่อนภาษีจึงไม่ช่วยลดภาระภาษีที่ต้องจ่าย

ถ้าใช้สิทธิช้อปลดหย่อนภาษี 30,000 บาท จะช่วยลดภาระภาษีให้คุณได้ดังนี้

ฐานภาษีภาษีลดลงสูงสุด
5%1500
10%3000
15%4500
20%6000
25%7500
30%9000
35%10500

วิธีช้อปลดหย่อนภาษีที่คุ้มค่า

จากตารางด้านบน จะเห็นว่าการใช้สิทธิช้อปลดหย่อนภาษีเต็มจำนวน 50,000 บาท จะช่วยประหยัดภาษีได้สูงสุดประมาณ 1 ใน 3 ของเงินที่จ่ายไป และการจะเป็นแบบนั้นได้คุณจะต้องอยู่ในฐานภาษี 35%

ในขณะที่การที่อยู่ในฐานภาษี 5% จะช่วยประหยัดภาษีได้ 1 ใน 20 ของเงินที่จ่ายไปเพียงเท่านั้น

ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะโดยหลักการแล้วมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นมาตรการที่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของภาคประชาชน (C ใน GDP) ในช่วงสั้น ๆ

ดังนั้นแล้ว วิธีช้อปลดหย่อนภาษีที่คุ้มค่าที่สุดจึงเป็นการซื้อสินค้าที่ต้องซื้ออยู่แล้ว (ตามปกติมักมีเงื่อนไขที่ทำให้บริการไม่สามารถกักตุนได้) และสินค้าที่สามารถซื้อกักตุนได้ โดยส่วนตัวสินค้าเหล่านั้นที่มักจะเก็บไว้ซื้อในช่วงมาตรการลดหย่อนภาษีมักจะเป็น หนังสือ คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แทบเล็ต และอุปกรณ์เกี่ยวคอมพิวเตอร์และไอที อย่างเช่น เมาส์ คีย์บอร์ด หูฟัง และสายชาร์จ ซึ่งมักจะซื้อให้เต็มจำนวนได้ไม่ยาก

และสิ่งที่ควรระลึกเอาไว้เสมอคือ ค่าลดหย่อนภาษี แพงกว่า ภาษีที่ต้องจ่ายเสมอ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจ่ายเพิ่มเพื่อแลกกับภาษีที่ลดลงเพียงเล็กน้อย หากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อ

ข้อควรระวัง ⚠️

อย่างที่รู้กันว่ากรมสรรพากรได้มีการใช้ใบกำกับภาษีและใบรับในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มาหลายปีแล้ว แต่ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นมานั้นได้มีการเริ่มบังคับว่าเป็นต้องใช้ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และ ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เป็นหลักฐานในมาตรการช้อปลดหย่อนภาษีเท่านั้น อีกทั้งยังมีระบบที่ดึงข้อมูลจากร้านค้ามาที่กรมสรรพากรให้เรียบร้อย

กรมสรรพากรจึงประชาสัมพันธ์มาตั้งแต่ปี 2567 ว่าไม่จำเป็นต้องเก็บหลักฐาน e-Tax Invoice และ e-Receipt เหล่านี้เอาไว้ก็ได้ (แปลว่า ไม่ต้องดาวน์โหลดไฟล์ PDF ที่ร้านค้าส่งให้คุณก็ได้)

แม้ว่าอาจฟังดูดี 😊

แต่รู้หรือไม่ว่า ถ้าหากข้อมูลหลักฐานช้อปลดหย่อนภาษีหายไปจากระบบ (หรือมีข้อผิดพลาดใดก็ตาม) และคุณยื่นภาษีผิดพลาดไปจากความเข้าใจผิด สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “นั่นเป็นปัญหาของคุณ” 💀

เราจึงยังคงแนะนำให้ดาวน์โหลดไฟล์ e-Tax และ e-Receipt ที่ได้รับจากร้านค้าผ่านทาง Email เก็บเอาไว้เพื่อความปลอดภัยในทรัพย์สินของท่าน และควรที่จะรีบดาวน์โหลดทันทีเนื่องจากบางร้านค้าบางบริษัทมีการตั้งเวลาหมดอายุของลิงก์ดาวน์โหลดเอาไว้

อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงคำแนะนำที่คุณอาจจะสนใจหรือไม่สนใจก็ได้เช่นกัน

ขอให้โชคดี

ช้อปลดหย่อนภาษี