บทความนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจพื้นฐานของการจด VAT หรือ การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของกิจการ ว่าคืออะไร ใครต้องจด VAT และจะมีอะไรตามมาบ้างหลังจากที่ผู้ประกอบการคนหนึ่งตัดสินใจจด VAT ตลอดจนประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการจด VAT ว่าทำไมการที่ผู้ประกอบการรายย่อยต้องจด VAT เมื่อรายได้ 1.8 ล้านบาทถึงเป็นปัญหา
เกณฑ์และเงื่อนไขต่าง ๆ ตามกฎหมายในบทความนี้เป็นสรุปสั้น ๆ อย่านำไปใช้อ้างอิง เพราะตัวเลขและเกณฑ์บางอย่างอาจเปลี่ยนไปตามเวลา (ซึ่งเราอาจกลับมาแก้ไม่ทัน เพราะไม่ได้รู้สึกว่าต้องรีบกลับมาแก้) และขออนุญาตไม่ใส่ลิงก์ของกรมสรรพากรเอาไว้ เพราะทางนั้นขยันเปลี่ยนลิงก์เสียเหลือเกิน เราจึงเลือกที่จะอัปโหลดไฟล์ PDF จากกรมสรรพากรของสิ่งที่เรากล่าวถึงเอาไว้ใน GitHub และลิงก์ไปที่ GitHub แทน
ดังนั้นแล้ว หากมีข้อสงสัยและ/หรือต้องการความเป็นปัจจุบัน เราแนะนำให้ลองนำ Keyword ที่เกี่ยวข้องไปค้นหาและเลือกอ่านของเว็บไซต์กรมสรรพากรอย่างใจเย็น เพราะบางครั้งไม่ได้อยู่ในหน้าแรก หรือเป็นบทความที่ไม่ระบุกฎหมายอ้างอิง
VAT คืออะไร?
VAT ย่อมาจาก Value-Added Tax ในภาษาไทยเรียกว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากการขายสินค้าหรือบริการในแต่ละขั้นตอนการผลิตและการขายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่เกิดขึ้นในประเทศและจากการนำเข้า
ปัจจุบันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ของประเทศไทย คือ 10% ของมูลค่าของสินค้าหรือบริการ ซึ่งเราเป็นประเทศที่ใช้ VAT แบบอัตราเดียว (บางประเทศสินค้าบางประเภทอาจมีอัตรา VAT ต่างกัน) แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน VAT ถูกกดเอาไว้เหลือ 7% ด้วยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่จะออกมาแบบปีต่อปี จึงทำให้หลายคนเข้าใจว่า VAT 7% ตั้งแต่แรกมาตลอด
ทั้งนี้ สินค้าและบริการบางประเภทอาจได้รับการยกเว้น VAT ซึ่งจะถูกระบุเอาไว้ใน ประมวลรัษฎากร มาตรา 81
ใครจ่าย VAT
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT นั้นจัดว่าเป็น ภาษีทางอ้อม (Indirect Tax) ที่สามารถผลักภาระในการจ่ายให้ผู้อื่นได้ หมายความว่าผู้ขายซึ่งเป็นผู้ที่มีรายได้จากการขายของชิ้นนั้นจะสามารถผลักภาระในการจ่ายภาษีในกลุ่มภาษีทางอ้อมอย่าง VAT ไปให้ผู้ซื้อจ่ายได้ ด้วยการรวม VAT เข้าไปในราคา
ดังนั้นแล้ว คำตอบของคำถามว่าใครจ่าย VAT จึงเป็นผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ที่ซื้อสินค้าและบริการไปใช้ (ไม่ได้นำไปผลิตต่อ) และไม่สามารถขอคืน VAT ได้ ซึ่ง VAT ที่เราจ่ายไปจะถูกรวมอยู่ในราคาที่เราได้จ่ายให้ผู้ขาย
มาถึงตรงนี้ คุณน่าจะสังเกตเห็นแล้วว่า ตอนนี้ VAT ที่คุณจ่ายไปอยู่ที่ผู้ขาย ยังไม่ถึงมือกรมสรรพากร
ด้วยเหตุนี้ กฎหมายจึงได้กำหนดให้ผู้ขายทำสิ่งที่เรียกว่า “การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม” หรือที่เราจะเรียกสั้น ๆ ว่า “การจด VAT หรือ จด VAT” ซึ่งทำให้ผู้ขายมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (หลังจากนี้เราจะเรียกว่า นำส่ง VAT) ที่เก็บมาได้จากผู้ซื้อให้กับกรมสรรพากร
… และตรงนี้คือจุดเริ่มต้นของสาระสำคัญของบทความนี้
ใครต้องจด VAT?
ผู้ที่ต้องจด VAT หรือ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ผู้มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากร (ผู้ที่ไม่ได้รับการยกเว้น) แต่ผู้ประกอบการบางประเภทที่ได้รับการยกเว้นก็มีสิทธิขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ถ้าต้องการ
สำหรับผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย (ข้อ 1. ถึง 7. จะจดก็ได้ถ้าต้องการ) ได้แก่
- การขายสินค้าหรือให้บริการของผู้ประกอบการที่มีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
- การขายพืชผลทางการเกษตรภายในราชอาณาจักร เช่น ข้าว ผักและผลไม้ เป็นต้น
- การขายสัตว์ทั้งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตภายในราชอาณาจักร เช่น ไก่หรือเนื้อสัตว์
- การขายปุ๋ย
- การขายปลาป่น อาหารสัตว์
- การขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ เพื่อบำรุงรักษาป้องกัน ทำลาย หรือ กำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์
- การขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน
- การนำเข้าสินค้าตาม 2. ถึง 7.
- การให้บริการการศึกษาของสถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
- การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศ แต่หากเป็นการให้บริการขนส่งโดยอากาศยาน และการให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อ ผู้ประกอบการมีสิทธิเลือกเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้
- การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศทางบกและทางเรือซึ่งมิใช่เรือเดินทะเล
- การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลทางราชการและเอกชน
- การให้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์
- การให้บริการจัดแข่งขันกีฬาสมัครเล่น
- การให้บริการประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี การว่าความ
- การให้บริการของนักแสดงสาธารณะ
- การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์
- การให้บริการที่เป็นงานทางศิลปะและวัฒนธรรม ในสาขาและลักษณะการประกอบกิจการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
- การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน
- การขายสินค้าหรือการให้บริการของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งส่งรายรับทั้งสิ้นให้แก่รัฐโดยไม่หักรายจ่าย
- การให้บริการวิจัย หรือการให้บริการทางวิชาการ ซึ่งต้องมีลักษณะการประกอบกิจการตามที่กรมสรรพากรกำหนด คือ ต้องเป็นการวิจัยหรือบริการทางวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์และสาขาสังคมศาสตร์ แต่ต้องมิใช่เป็นการกระทำในทางธุรกิจ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือมูลนิธิ
- การให้บริการของราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ไม่รวมถึงบริการที่เป็นการพาณิชย์ของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นการหารายได้ หรือผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นกิจการสาธารณูปโภคหรือไม่ก็ตาม
- การขายสินค้าหรือการให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น
- การบริจาคสินค้าให้แก่สถานพยาบาล และสถานศึกษาของทางราชการ หรือให้แก่ องค์การหรือสถานสาธารณกุศล หรือสถานพยาบาลและสถานศึกษาอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
- การขายบุหรี่ซิกาแรต ที่ผลิตโดยโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ซึ่งผู้ขายเป็นบุคคลอื่นที่มิใช่โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง
- การขายสลากกินแบ่งของรัฐฯ สลากออมสินของรัฐฯ และสลากบำรุงสภา-กาชาดไทย
- การขายแสตมป์ไปรษณีย์ แสตมป์อากร แสตมป์อื่นของรัฐฯ องค์การของรัฐฯ หรือ องค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เฉพาะที่ยังไม่ได้ใช้ในราคาที่ไม่เกินมูลค่าที่ตราไว้
- การให้บริการสีข้าว
ผู้มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากร ได้แก่
- ผู้ประกอบกิจการที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเป็นปกติธุระ เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี (ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีรายรับเกิน)
- ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งมีแผนงานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ได้มีการดำเนินการ และเตรียมการประกอบกิจการอันเป็นเหตุให้ต้องมีการซื้อสินค้าหรือรับบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ผู้ประกอบการอยู่นอกราชอาณาจักร และได้ขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นปกติธุระ โดยมีตัวแทนอยู่ในราชอาณาจักร ให้ตัวแทนเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการจดทะเบียน
โดยสาระสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ข้อ 1. ผู้ประกอบกิจการที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเป็นปกติธุระ เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี
ด้วยข้อนี้เพียงข้อเดียวก็สามารถที่จะครอบคลุมได้เกือบทุกอย่าง ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ทั้งผู้ประกอบการจริงจังและพนักงานประจำที่มีอาชีพเสริม ทั้งธุรกิจที่มั่นคงและธุรกิจที่เพิ่งจะเริ่มตั้งไข่ ว่าจะต้องจด VAT แทบทั้งสิ้น
จด VAT แล้วมันทำไม
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาเมื่อคุณจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ จด VAT แล้วนั่นคือภาระหน้าที่อันใหญ่ยิ่งต่อไปนี้
1. เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อ
2. ออกใบกำกับภาษี ถ้าเป็นผู้มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี
3. จัดทำรายงานตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ รายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ
4. ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม
จริงอยู่ที่ในทางกฎหมายระบุเอาไว้แค่ 4 ข้อใหญ่ กับอีกข้อย่อยนิดหน่อย แต่สิ่งที่คุณต้องทำและต้องพึงระลึกเอาไว้ไม่ใช่ “แค่” เพราะ 4 ข้อนี้เทียบได้กับยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำให้เห็น แต่ในทางปฏิบัติมีเรื่องจุกจิกตามมาอีกมากกว่า 10 เรื่องที่คุณต้องจัดการ
หลังจากนี้เราจะอธิบายทีละประเด็น โดยบางประเด็นเราจะใส่เลขเอาไว้เพื่อแสดงความสัมพันธ์ทางตรงกับทั้ง 4 ข้อด้านบน
งั้นมาเริ่มกันว่า … จด VAT แล้วมันทำไม
อันดับแรกก็ต้องไปจด VAT (ไง)
แน่นอนว่าการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ การจด VAT นั้นไม่ได้สะดวกรวดเร็วเหมือนกับการลงทะเบียน Gmail และซับซ้อนตั้งแต่เอกสารที่ใช้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อคุณเตรียมเอกสารแล้ว ก็จัดการจด VAT ให้เรียบร้อยตามช่องทางที่กรมสรรพากรกำหนด ซึ่งเราไม่รู้จะสอน How to ขั้นนี้ไปเพื่ออะไร ดังนั้นเราจะข้ามขั้นตอนนี้ไป
แม้ว่าจะเป็นขั้นตอนที่ซับซ้อนอยู่บ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือส่วนที่ตรงไปตรงมาที่สุดของความวุ่นวายทั้งหมดนี้เช่นกัน
เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อ (1.)
เมื่อคุณเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว หน้าที่แรกของผู้ที่จด VAT ก็คือ “เก็บ VAT จากผู้ซื้อ” ด้วยการเพิ่มราคาสินค้าหรือบริการเข้าไปอีก 7% ในส่วนของ VAT
ถ้าราคาสินค้าคือ 100 บาท เมื่อจด VAT แล้วคุณจะต้องขาย 107 บาท เพื่อให้ทุกอย่างยังคงเดิม
คงเดิมก็แย่แล้ว … การที่คุณขึ้นราคาเป็น 107 บาท สิ่งที่ยังคงเดิมมีเพียงกำไรต่อหน่วยของคุณในสมการเท่านั้น ในทางปฏิบัติยิ่งราคาสินค้าชนิดหนึ่งเพิ่มขึ้นระดับความต้องการสินค้านั้นก็จะลดลงตาม และหันไปใช้สินค้าแบบเดียวกันที่ราคาถูกกว่าเป็นการทดแทน และจะยิ่งรุนแรงกับสินค้าประเภทที่มีความใกล้เคียงกันมาก ซึ่งถูกอธิบายเอาไว้ในแนวคิดของ Price Elasticity of Demand (ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา) ดังนั้นเราจะไม่อธิบายแบบลงรายละเอียด
เพราะกิจการอื่นที่ไม่จด VAT ไม่ว่าจะด้วยการที่เป็นรายย่อยรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ หรือการที่เลี่ยงภาษีทั้งที่เป็นรายใหญ่รายได้ถึงแน่ ๆ จะยังคงสามารถขายด้วยราคา 100 บาทเท่าเดิม เพื่อให้ได้กำไรเท่ากัน ซึ่งในกรณีนี้เรามักจะเห็นกันบ่อย ๆ กับกรณีของร้านอาหาร และสินค้าและบริการที่ขายแข่งกันในช่องทางออนไลน์
ประเด็นนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจึงมักจะเป็นผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือบริการที่มีกำไรต่อหน่วยต่ำ เน้นขายในปริมาณมากที่อ่อนไหวอย่างมากกับการปรับราคาเพียงแค่เล็กน้อย
และด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย จึงไม่ต้องจด VAT เพราะพวกเขาไม่ได้ต้องจัดการนำ VAT ส่งให้สรรพากรนั่นเอง
ออกใบกำกับภาษี (2.)
ใบกำกับภาษี คือ เอกสารหลักฐานสำคัญที่ผู้ประกอบการจด VAT มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีพร้อมส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อทันทีที่มีการส่งมอบสินค้า หรือทันทีที่ได้รับชำระราคาค่าบริการ เพื่อแสดงราคากับจำนวน VAT ที่เก็บจากผู้ซื้อแต่ละครั้ง โดยจะต้องจัดทำใบกำกับภาษีอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ ต้นฉบับที่ส่งให้ผู้ซื้อ และสำเนาที่ผู้ประกอบการต้องเก็บไว้เป็นหลักฐานประกอบการลงรายงานภาษี ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ทำรายงาน
เว้นแต่ว่าจะได้รับการยกเว้นว่าไม่ต้องออกใบกำกับภาษี
ซึ่งเงื่อนไขโดยทั่วไปที่จะทำให้ได้รับการยกเว้นการออกใบกำกับภาษี คือ การขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย (ครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท) โดยกิจการต่อไปนี้
- ผู้ที่จด VAT ไม่เคยมีมูลค่าของฐานภาษีเดือนใดถึง 300,000 บาท
- สถานประกอบการเป็นรถเข็น หรือแผงลอย
- การให้บริการการแสดง การเล่น การกีฬา การแข่งขัน
แต่ถ้าหากลูกค้าเรียกร้องใบกำกับภาษี ผู้ประกอบการอย่างคุณก็ยังคงมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีอยู่ดี 😅
และถ้าคุณมีคู่ค้าเป็นผู้ที่จด VAT โดยเฉพาะนิติบุคคล ยังไงเขาก็ขอคุณ
เมื่อต้องออกใบกำกับภาษี มีเงื่อนไขที่คุณจะต้องปฏิบัติตามให้ถูกต้องตามเงื่อนไขของการจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป (มาตรา 86/4) และใบกำกับภาษีอย่างย่อ (มาตรา 86/6)
และนอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่เทียบเท่าใบกำกับภาษีอยู่อีกด้วย ได้แก่ ใบเพิ่มหนี้ (มาตรา 86/9), ใบลดหนี้ (มาตรา 86/10), ใบเสร็จรับเงินที่ส่วนราชการออกให้ในการขายทอดตลาด (มาตรา 83/5), และใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร กรมศุลกากร หรือกรมสรรพสามิต เฉพาะส่วนที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 86/14) แน่นอนว่าเอกสารเหล่านี้ก็จะมีรูปแบบเฉพาะซึ่งสามารถไปอ่านได้จากประมวลรัษฎากรตามมาตราที่วงเล็บไว้
ใบกำกับภาษีอย่างย่อ (2.)
ใบกำกับภาษีอย่างย่อ คือ ใบกำกับภาษีประเภทที่สามารถออกได้ เมื่อเป็นผู้จด VAT ที่ขายปลีกหรือให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก (ที่ออกใบกำกับภาษีฉบับเต็มได้ยากด้วยสาเหตุที่น่าจะพอเดากันออก) แต่ก็มีเงื่อนไขประกอบด้วย ดังนี้
- เป็นการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบโดยชัดแจ้งว่าเป็นการขายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง และได้ขายในปริมาณซึ่งตามปกติวิสัยของผู้บริโภคนั้นจะนำสินค้าไปใช้บริโภค หรือใช้สอยโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะน าไปขายต่อไป เช่น การขายสินค้าของกิจการแผงลอย กิจการขายของชำ กิจการขายยา กิจการจำหน่ายน้ำมัน และกิจการห้างสรรพสินค้า ทั้งนี้ เฉพาะในการขายสินค้าที่เป็นไปตามลักษณะและ/หรือเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น
- การให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก เช่น การให้บริการของกิจการภัตตาคาร กิจการโรงแรม กิจการซ่อมแซมทุกชนิด กิจการโรงภาพยนตร์ และกิจการสถานบริการน้ำมัน เป็นต้น
โดยที่กิจการภัตตาคาร ได้แก่ กิจการขายอาหารหรือเครื่องดื่มไม่ว่าชนิดใด ๆ รวมทั้งกิจการรับจ้างปรุงอาหารหรือเครื่องดื่ม ทั้งนี้ ไม่ว่าในหรือนอกสถานที่ซึ่งจัดไว้ให้ประชาชนเข้าไปบริโภคได้
ผู้ประกอบการตาม 1. และ 2. ต้องจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป พร้อมทั้งสำเนาใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการทุกครั้งที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเรียกร้อง พร้อมทั้งส่งมอบใบกำกับภาษีดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
การเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อนั้น หากเข้าลักษณะเป็นกิจการค้าปลีกแล้ว มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้เลยโดยไม่ต้องขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร
ใช่แล้ว เราจงใจไม่สรุปดูสักหัวข้อหนึ่ง เพราะการอ่านอะไรในลักษณะนี้ (และมากกว่านี้) เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว หากคุณไม่จ้างนักบัญชีมาจัดการให้
และแน่นอนว่ารายการในใบกำกับภาษีอย่างย่อก็จะต้องเป็นไปตามที่กรมสรรพากรกำหนด (ขอละไว้)
แต่ก็พอจะมีทางลัดอยู่ ซึ่งก็คือการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ (และแน่นอนอีกว่า ต้องเป็นไปตามที่กรมสรรพากรกำหนด)
ขอใบกำกับภาษี (2.)
นอกจากการออกใบกำกับภาษีแล้ว หากผู้ที่จด VAT ซื้อสินค้าหรือบริการ ก็จะต้องเรียกใบกำกับภาษีจากผู้ประกอบการที่จด VAT ที่ขายให้ด้วย เพื่อนำใบกำกับภาษีมาใช้เป็นหลักฐานคำนวณ VAT และเมื่อคำนวณออกมาแล้วพบว่า VAT ซื้อมากกว่า VAT ขาย ผู้ที่จด VAT จะได้เครดิตภาษีที่สามารถนำไปจ่าย VAT เดือนภาษีต่อ ๆ ไปจากเดือนภาษีที่คำนวณได้ หรือถ้าไม่ใช้คุณอาจจะขอคืนได้ภายใน 3 ปีถ้าต้องการ (แต่ก็ลองดู)
จัดการใบกำกับภาษีที่ข้อมูลผิด (2.)
ในกรณีนี้จะต้องยกเลิกใบกำกับภาษีเก่า เพื่อออกฉบับใหม่ โดยต้องนำใบที่ผิดมาประทับตรา “ยกเลิก” หรือขีดฆ่าแล้วเก็บไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิม
และทำใบใหม่ที่ระบุข้อมูลตามเงื่อนไขการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิม เพื่อออกฉบับใหม่ด้วยเลขที่ใหม่ แต่ลงวันเดิม และหมายเหตุในฉบับใหม่ว่า “เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเลขที่… เล่มที่….” และหมายเหตุการยกเลิกไว้ในรายงานภาษีขายของเดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วย
การออกใบแทนใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ (2.)
ถ้าหากคุณได้รับคำร้องขอจากผู้ซื้อที่ทำใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้สูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นออกใบแทนใบกำกับภาษี ใบแทนใบเพิ่มหนี้ หรือใบแทน ใบลดหนี้ให้กับผู้ซื้อ
โดยการถ่ายสำเนา และให้บันทึกรายการลงในภาพถ่าย ดังนี้ (1) ใบแทนออกให้ครั้งที่ (2) วัน เดือน ปี ที่ออกใบแทน (3) คำอธิบายย่อ ๆ ถึงสาเหตุที่ออกใบแทน และ (4) ลงลายมือชื่อของผู้ออกใบแทน
และให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งออกใบแทนตาม 1. บันทึกรายการตาม (1) - (4) ไว้ด้านหลังสำเนาใบกำกับภาษี สำเนาใบเพิ่มหนี้ หรือสำเนาใบลดหนี้ด้วย พร้อมบันทึกรายการการออกใบแทน ในรายงานภาษีขายในเดือนที่มีการออกใบแทน โดยระบุชื่อผู้ซื้อ เลขที่/เล่มที่ วันที่ของใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ ที่ได้มีการออกใบแทน
การเก็บรักษาใบกำกับภาษี (2.)
ใบกำกับภาษี สำเนาใบกำกับภาษี ให้เก็บไว้ ณ สถานประกอบการที่จัดทำใบกำกับภาษี หรือสถานที่อื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ได้จัดทำใบกำกับภาษี
และในกรณีที่ผู้ที่จด VAT เลิกประกอบกิจการ จะยังคงต้องเก็บรักษาใบกำกับภาษีที่มีหน้าที่ต้องเก็บรักษาอยู่ในช่วงระยะเวลาที่เลิกประกอบกิจการต่อไปอีก 2 ปี
รายงานภาษีซื้อ และ รายงานภาษีขาย (3.)
หลังจากเราติดอยู่กับใบกำกับภาษีมากันจนเอียนกันไปแล้ว 🤢 เราขอแนะนำ รายงานภาษีซื้อ และ รายงานภาษีขาย
เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องจัดทำรายงานพิเศษเพื่อควบคุมการจัดเก็บ และสอบยันกับแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยื่นเสียภาษีภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นหลักฐานแสดง รายละเอียดประกอบแบบแสดงรายการภาษีและต้องจัดทำเป็นรายสถานประกอบการ ประกอบด้วย รายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ รายงานสินค้าและวัตถุดิบ ที่ทั้งหมดใช้ใบกำกับภาษีเป็นเอกสารหลักฐาน
และเช่นเคย รูปแบบรายงานเหล่านี้จะต้องเป็นไปตามที่กรมสรรพากรกำหนด
ซึ่งภาษีซื้อ (VAT ซื้อ) และภาษีขาย (VAT ขาย) จะถูกนำมาหักลบกลบกันว่า ในแต่ละเดือนภาษีคุณต้องชำระภาษีเพิ่ม หรือขอคืนภาษี
เมื่อกล่าวถึงการจัดทำบัญชีแล้ว ธุรกิจไม่ว่ารูปแบบใด ๆ หากได้เริ่มต้นประกอบธุรกิจแล้ว กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชี ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ที่บัญญัติให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีที่เป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้น ตามกฎหมายไทย นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย และกิจการ ร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร ต้องจัดทำบัญชีให้ครบถ้วนถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชี และตามประกาศ กรมทะเบียนการค้า เรื่อง กำหนดชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำ ข้อความและรายการที่ต้องมีในบัญชี ระยะเวลา ที่ต้องลงรายการในบัญชีและเอกสารที่ใช้ประกอบการลงบัญชี และให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชียกเว้น บุคคลธรรมดาและห้างหุ้นส่วนสามัญที่มีได้จดทะเบียน จัดทำงบการเงินให้ถูกต้องตามรายการย่อที่กฎหมาย กำหนด และต้องได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเว้นแต่งบการเงินของ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่มีทุนไม่เกินห้าล้านบาท สินทรัพย์รวมไม่เกินสามสิบล้านบาท และรายได้รวมไม่เกิน สามสิบล้านบาท ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดให้งบการเงินได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็น โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และต้องนำส่งงบการเงินให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่วนงบการเงินที่นำส่งกรมสรรพากรยังต้องได้รับการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีภาษีอากร (Tax Auditor)
แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจต่าง ๆ ตามที่กล่าวถึงข้างต้นนอกจากมีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีตาม พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 แล้ว เพื่อประโยชน์ในการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร จึงกำหนดให้ผู้ประกอบการไม่ว่าจะประกอบการในรูปนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาต้องจัดทำบัญชี รายงาน รวมทั้งบัญชีพิเศษ และการแจ้งข้อความเพิ่มเติมตามประเภทให้เป็นไปโดยถูกต้องตามประมวลรัษฎากรหรือเรียกได้ว่า “บัญชีภาษีอากร” (Tax Accounting) นอกเหนือจากบัญชีที่ต้องจัดทำตามกฎหมายว่าด้วย การบัญชี
ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (4.)
เมื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้า ออกใบกำกับภาษี และจัดทำรายงานเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว สิ่งสุดท้ายคือการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ที่กำหนด โดยผู้ประกอบการจะต้องจัดทำและยื่นทุกเดือน (ไม่ได้ยื่นเป็นรายปีเหมือนกับภาษีหลาย ๆ ประเภท)
โทษเกี่ยวกับ VAT (และใบกำกับภาษี)
1. ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ไม่จัดทำใบกำกับภาษี หรือสำเนาใบกำกับภาษี หรือจัดทำแล้วไม่ส่งมอบ ให้ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องเสียเบี้ยปรับอีก 2 เท่า ของภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษี
2. ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษี ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ใบเพิ่มหนี้ โบลดหนี้ โดยมี รายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามกฎหมายต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
3. ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ หรือใบแทนเอกสารดังกล่าว โดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท และต้องเสียเบี้ยปรับอีก 2 เท่า ของภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษี
4. ผู้ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ โดยไม่มีสิทธิออกเอกสารดังกล่าวตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท และต้องเสียเบี้ยปรับอีก ๒ เท่าของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ และเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสีย นอกจากนั้น จะต้องรับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่แสดงในใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้
5. ผู้ประกอบการโดยเจตนานำใบกำกับภาษีปลอม หรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไปใช้ในการเครดิตภาษี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท และต้องเสียเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษี และเสียเบี้ยปรับ 1 เท่า ฐานยื่นภาษีซื้อไว้เกินและเสียภาษีคลาดเคลื่อน และเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ
บทกำหนดโทษที่เรายกมามีเพียงส่วนที่เกี่ยวกับใบกำกับภาษี ส่วนบทกำหนดโทษเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด ดูได้ที่ กำหนดโทษการปฏิบัติฝ่าฝืนเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
ปัญหาของการจด VAT
มาถึงตรงนี้พื้นฐานความรู้เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ของผู้อ่านน่าจะมากพอที่จะเข้าใจว่าต้องการสื่อความหมายอะไร และคุยกันรู้เรื่องแล้ว
ย้อนกลับไปที่ว่า ใครต้องจด VAT จะเห็นว่า คนที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือคนที่ต้องจด VAT คือคนที่ไม่ได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องจด VAT ก็จะเห็นว่าอาชีพหรือรายได้โดยส่วนใหญ่นั้น … ก็ไม่ได้รับการยกเว้นทั้งนั้นนั่นแหละ
ทีนี้เมื่อคุณไม่ได้รับการยกเว้น ก็จะต้องไปดูกันต่อว่าคุณมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่จะต้องจด VAT ไหม ซึ่งข้อนี้เป็นใจความสำคัญของปัญหาของการจด VAT เพราะกรมสรรพากรได้กำหนดว่า “ผู้ประกอบกิจการที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเป็นปกติธุระ เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี”
ย้ำอีกทีว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีที่ว่าคือ “รายรับ” ไม่ใช่กำไร ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายต้นทุนออกไป นั่นหมายถึงว่า ในกรณีนี้ คุณอาจจะมีรายรับ 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยที่ขาดทุนก็ได้ และถ้าหากถามว่ารายรับ 1.8 ล้านบาทนั้นน้อยแค่ไหนในปัจจุบัน (หรือแม้แต่ 10 ปีที่แล้วจากวันที่เขียนบทความนี้ก็ตาม) นั่นคือ
- ยอดขายเดือนละ 150,000 บาท
- ยอดขายวันละ 5,000 บาท
ซึ่งในโลกของความเป็นจริง ถ้าหากว่าไม่ใช่ธุรกิจที่แปลกใหม่มาก ๆ หรือเป็นนวัตกรรม กำไรต่อหน่วยของธุรกิจเหล่านั้นมักจะไม่ค่อยสูงโดยธรรมชาติอยู่แล้ว โดยธุรกิจทั่วไปมักจะมีอัตรากำไรอยู่ที่ประมาณ 20 - 35% เท่านั้น (40% นี่คือถือว่าเก่งแล้ว) แต่ที่หนักกว่านั้นคือธุรกิจซื้อมาขายไปที่มักจะมีกำไรอยู่แค่ระดับ 10 - 15%
ดังนั้น ถ้าหากยอดขายทั้งปีคือ 1,800,000 บาท กำไรของธุรกิจที่มีกำไร 30% คือ 540,000 บาทต่อปี หรือ 45,000 บาทต่อเดือน หรือในกรณีที่กำไร 15% ผู้ประกอบการที่ขายได้ 1.8 ล้านบาท จะมีกำไรเฉลี่ยเดือนละ 22,500 บาท
แม้ว่ากำไรเดือนละ 45,000 บาท ดูเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย ยิ่งเมื่อนำไปเทียบกับเงินเดือนของพนักงานประจำ แต่สิ่งสำคัญคือต้องไม่ลืมว่า อันดับแรกคุณต้องมีความสามารถสูงพอจะทำให้กำไร 30% อย่างสม่ำเสมอโดยไม่สามารถที่จะหย่อนยานได้เลยไม่ว่าจะเป็นเพราะผลกระทบจากปัจจัยภายในหรือปัจจัยภายนอกก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือเมื่อคุณเป็นบุคคลธรรมดาการหักค่าใช้จ่ายนั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้อย่างจำกัดจำเขี่ย (ตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพว่านี่เป็นปัญหามากแค่ไหนคือ อาชีพฟรีแลนซ์ ที่หักค่าใช้จ่ายได้แค่ 100,000 บาท) แต่กลับมี Hidden Cost ที่ไม่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนได้อยู่มากมาย ทำให้กำไรเดือนละ 45,000 บาทจากการที่บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจนั้นไม่ได้มากอย่างที่คิด
ปัญหาจากภาระจากการจด VAT
แต่ปัญหาที่สำคัญคือ ด้วยรายได้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ แบบนี้ เมื่อคุณต้องจด VAT สิ่งที่ตามมานอกจากจะไม่ได้รวยขึ้นแล้ว (อีกนิดหนึ่งจะเฉลยว่าทำไม) คุณยังมีภาระจากการจด VAT ตามที่เราได้อธิบายอย่างยืดยาวในตอนต้น เช่น การที่ต้องจัดการจด VAT, การออกใบกำกับภาษีฉบับเต็ม, การออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ, การรักษาใบกำกับภาษีที่พร้อมส่งให้สรรพากรตรวจสอบ, การจัดทำรายงานภาษีซื้อและภาษีขาย, การจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ, การออกใบแทนใบกำกับภาษี, การแก้ไขใบกำกับภาษีในบางครั้ง, และการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
ซึ่งหน้าที่เหล่านี้จะเกิดขึ้น “ทุกเดือน” และในแต่ละภาระหน้าที่ก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยและต้นทุนที่แฝงอยู่ โดยจุดจบของเรื่องนี้คือการจ้างนักบัญชีในทุก ๆ เดือนที่เป็นค่าใช้จ่ายที่เรายังไม่ได้เพิ่มเข้าไปในตัวอย่างด้านบน
แน่นอนว่าที่ราคาถูกมี แต่คุณภาพก็จะเป็นไปตามราคา ซึ่งก็ต้องไม่ลืมว่าส่วนสำคัญของประเด็นนี้คือ ความผิดพลาด หมายถึง โทษตามกฎหมาย
นอกจากนี้ ถ้าอยากใช้ซอฟต์แวร์ ERP ทุ่นแรง ก็จะต้องบวกค่าใช้จ่ายจาก ERP เข้าไปอีกเช่นกัน
ความเสี่ยงในการแข่งขัน
ประเด็นต่อมา คือประเด็นที่เราเกริ่นไปแล้วในหัวข้อ “การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อ” หรือการเพิ่ม VAT 7% เข้าไปในราคาสินค้าหรือบริการ นี่คือสิ่งที่เราติดเอาไว้ว่า “เมื่อคุณต้องจด VAT สิ่งที่ตามมานอกจากจะไม่ได้รวยขึ้น” นั่นเป็นเพราะคุณมีทางเลือก 2 ทาง คือ ขึ้นราคาแล้วรายได้ลดลง (ขายไม่ออก) กับขายราคาเท่าเดิมได้กำไรน้อยลง (แบกภาษีมูลค่าเพิ่ม)
เพราะถ้าราคาสินค้าคือ 100 บาท เมื่อจด VAT แล้วคุณจะต้องขาย 107 บาท ถ้าไม่อยากแบกภาษีมูลค่าเพิ่มเอาไว้เอง เพื่อรักษากำไรต่อหน่วยให้คงเดิม แต่ในทางปฏิบัติยิ่งราคาสินค้าชนิดหนึ่งเพิ่มขึ้นระดับความต้องการสินค้านั้นก็จะลดลงตาม และหันไปใช้สินค้าแบบเดียวกันที่ราคาถูกกว่าเป็นการทดแทน และจะยิ่งรุนแรงกับสินค้าประเภทที่มีความใกล้เคียงกันมาก ซึ่งถูกอธิบายเอาไว้ในแนวคิดของ Price Elasticity of Demand (ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา) ดังนั้นเราจะไม่อธิบายแบบลงรายละเอียด
ในขณะที่กิจการอื่นที่ไม่จด VAT ไม่ว่าจะด้วยการที่เป็นรายย่อยรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ หรือการที่เลี่ยงภาษีทั้งที่เป็นรายใหญ่รายได้ถึงแน่ ๆ จะยังคงสามารถขายด้วยราคา 100 บาทเท่าเดิม เพื่อให้ได้กำไรเท่ากัน ซึ่งในกรณีนี้เรามักจะเห็นกันบ่อย ๆ กับกรณีของร้านอาหารและสินค้าและบริการที่ขายแข่งกันในช่องทางออนไลน์ และยิ่งมีผลกระทบรุนแรงแบบทวีคูณกับผู้ประกอบการธุรกิจซื้อมาขายไปที่กำไรต่อหน่วยต่ำ โดยอาจทำให้กำไรต่อหน่วยลดลงได้ถึง 50% ได้ทันทีที่จด VAT จนต้องเลิกกิจการทันที
และในกรณีที่คุณต้องการขอคืน VAT คุณก็จะต้องซื้อจากผู้ที่จด VAT เหมือนกัน นั่นหมายถึงการที่คุณต้องเปลี่ยน Suppliers ซึ่งอาจส่งผลกับต้นทุนได้อีกต่อเช่นกัน
กล่าวคือ จากการจด VAT สิ่งที่ผู้ประกอบการจะได้รับทันทีคือความเสี่ยงจากต้นทุนต่อหน่วยหรือยอดขายที่เปลี่ยนไป ซึ่งในกรณีนี้ผู้ประกอบการไทยที่โดนทุ่มตลาดจากสินค้าราคาถูกปลอด VAT จากจีน เพิ่งจะได้รับการปกป้องด้วยการเก็บ VAT สินค้านำเข้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาทมาได้ไม่กี่เดือน 😊
รายได้ 1.8 ล้านชั่วคราว แต่จด VAT ตลอดไป
แม้ว่ารายได้ของคุณจะไปแตะ 1.8 ล้านบาท ด้วยกรณีพิเศษชั่วครู่ชั่วคราว หรือรู้ตัวแน่ ๆ อยู่แล้วว่าจะไม่ไปถึง 1.8 ล้านบาทอีกแน่นอน นั่นไม่ใช่สาระสำคัญแต่อย่างใด เพราะทันทีที่รายได้ต่อปีของคุณแตะ 1.8 ล้านบาท คุณจะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีรายรับเกิน … ไม่งั้นผิดกฎหมาย 👮
แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ภาระหน้าที่จากการจด VAT จะตามคุณไปตลอดกาล
ใช่แล้ว ต่อให้คุณขาดทุนก็ยังมีภาระจากภาษีมูลค่าเพิ่ม นี่จึงเป็นเหตุว่าทำไมเราต้องอธิบายโดยละเอียดว่าการจด VAT จะมีอะไรตามมาบ้าง
เพราะธรรมชาติของภาษีมูลค่าเพิ่ม คือภาษีที่เกิดจากการซื้อและขายสินค้าและบริการ ไม่ได้คำนวณว่าจะต้องจ่ายเท่าไหร่จากกำไรที่เข้ากระเป๋าผู้ประกอบการ และปัญหาที่สำคัญของ VAT คือ “คุณเก็บเขามาแล้ว” คุณก็ต้องจ่าย VAT ที่เก็บจากลูกค้ามาได้ให้กับสรรพากร เพราะการเก็บมามีค่าเท่ากับบอกลูกค้าของคุณว่า “นี่ ๆ ขอเพิ่ม 7% ด้วยนะ สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม”การไม่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงมีสภาพที่ไม่ต่างจากเรายักยอกเงินของรัฐที่รัฐควรจะได้
แน่นอนว่าไม่มีใครอยากได้ 7% นั้นเข้ากระเป๋า แต่ปัญหาคือหน้าที่เกี่ยวกับ VAT อย่างที่ได้เน้นย้ำไปไม่รู้กี่ครั้งแล้วในบทความนี้
ครั้นคุณรู้ตัวว่ารายได้จะเกิน 1.8 ล้านบาท จะหยุดหารายได้เพิ่ม (ซึ่งเป็น Best Practice ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลือกใช้) แต่กับอาชีพอิสระนั้นหลายครั้งไม่ได้อิสระขนาดนั้น ดังเช่น Rule of Horror ของ Freelance คือถ้าหากคุณปฏิเสธลูกค้าไปครั้งหนึ่งแล้ว ลูกค้าคนนั้นจะหายไปตลอดกาล เสมือนคุณนั้นได้ตายไปแล้ว 🫵
แต่จริง ๆ แล้วจะเรียกว่าจด VAT ตลอดไปก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะจริง ๆ แล้วคุณสามารถยกเลิกได้ … แต่การเลิกจด VAT นี้เองคือสิ่งแย่พอ ๆ กับการจด VAT ตลอดไป
แล้วปัจจุบันผู้ประกอบการรายย่อยทำอย่างไร?
ทั้งหมดทำให้ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการรายย่อยที่รู้ตัวดีว่าธุรกิจของตนเองอยู่ในจุดที่เป็นปัญหา เลือกที่จะไม่ขยายธุรกิจที่ได้อัตราการเติบโตเพียงเล็กน้อย หรือเลือกที่จะหยุดรับงานที่จะทำให้รายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นผลเสียอย่างแน่นอนอยู่แล้วกับธุรกิจที่ควรจะเติบโตสักนิดสักหน่อยก็ยังดี
เว้นแต่ผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องพึ่งสินค้าขั้นกลางสูงที่ต้องขอคืน VAT และ ผู้ประกอบการที่มีลูกค้าเป็นธุรกิจ (B2B Business) ซึ่งจำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้
ส่วนผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่รู้เกี่ยวกับการจด VAT และตัวเลข 1.8 ล้านบาทนี้ ก็ลงเอยด้วยภาษีย้อนหลัง
1.8 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่ใช้มานานกว่า 20 ปี
รู้หรือไม่ว่า ตัวเลขรายได้ 1.8 ล้านบาทนี้เป็นตัวเลขที่ถูกกำหนดขึ้นมาตั้งแต่เมษายนปี พ.ศ. 2548 หรือ 20 ปีจนถึงวันที่เขียนบทความขึ้นมา ซึ่งเป็นการขยายจากฐานรายได้ 1.2 ล้านมาเป็น 1.8 ล้าน ซึ่งในสมัยนั้นจะเรียกว่าเยอะก็ยังเรียกได้ไม่เต็มปาก
นับตั้งแต่นั้นมาตัวเลขรายได้ 1.8 ล้านบาท ก็ไม่ได้ปรับตามเงินเฟ้อหรือค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไปอีกเลย
ซึ่งเราเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องคงเอาไว้ ทั้งที่การขยายขึ้นมาอีกไม่กี่ล้านบาท (หรือใช้เกณฑ์ที่เป็นมิตรกับรายย่อยมากขึ้น) แล้วปล่อยให้ผู้ประกอบการรายย่อยเติบโต เพื่อเข้าระบบ VAT และกลายเป็นนิติบุคคลย่อมทำให้รายได้เข้าประเทศได้มากกว่าในระยะยาวเห็น ๆ 🤦
เพราะสิ่งที่ทุกคนกลัวไม่ใช่การจ่ายภาษี แต่ด้วยเกณฑ์นี้ทำให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่มั่นคง (มั่นคงที่ไม่ได้แปลว่าถาวร แต่หมายถึงไม่พังง่าย ๆ) ต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น พร้อมกับได้รับผลกระทบที่เลวร้ายมากยิ่งขึ้นเมื่อพลาดพลั้งขึ้นมาในอนาคต